วันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2560

เซน ในการทำงานอย่าง เซียน




คำนำสำนักพิมพ์

เซน คือ การตื่นรู้ นิ่งว่าง วางทุกข์

เชียน คือ ผู้เก่งกาจในทางใดทางหนึ่ง

ผู้ทำงานอย่างเซนจนเป็นเซียน จึงตื่นรู้และพร้อมเก่งกาจในงานของตน โดยไม่ร่วมว้าวุ่นอย่างสูญเปล่าไปกับผู้คนรอบข้าง ได้ชื่อว่าเป็นผู้บรรลุแล้วถึงยอกเขาแห่งความไร้กังวล

คุณดังตฤณออกแบบให้หนังสือพาคุณเข้าถึงเซนด้วยการทำงานที่คุณกำลังทำอยู่ ด้วยขั้นตอนวิธีตลอดจนภาษาที่ชัดเจน เมื่อฝึกตามจนถึงที่สุด ก็จะพบว่าไม่ต้องรอถึงเวลาพักร้อน ความร้อนในที่ทำงานก็หายไปได้อย่างน่าอัศจรรย์
สำนักพิมพ์ฮาวฟาร์


สารบัญ

  • ชี้แจงแถลงไข
  • ตั้งเป้าเอารางวัลเป็นจิต
  • ระงับกระสับกระส่าย
  • เอาชนะตัวเอง เอาชนะความขี้เกียจ
  • ทำงานด้วย ค้นหาใจที่เย็นด้วย
  • ทำงานเหมือนทำทาน
  • คิดจากความว่าง
  • เก่งงานอย่างเป็นไปเอง
  • ไร้ทุกข์อย่างเป็นไปเอง


ชี้แจงแถลงไข

ก่อนถึงรายละเอียดว่า 'ทำอย่างไร' มาพูดคุยถึงเหตุผลว่า 'ทำไมต้องเซน' กันก่อนครับ

เซนกับนักทำงานระดับโลก

สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) ผู้เป็นต้นกำเนิดไอโฟนนั้น เคยฝึกนั่งจ้องกำแพงว่างในวัดเซนแห่งแรกของอเมริกาอยู่หลายสัปดาห์

การนั่งจ้องกำแพงว่างอาจดูเหมือนบ้าสำหรับคนทั่วไป แต่นั่นเป็นหนึ่งในกรรมฐานของเซน ซึ่งได้แม่แบบมาจากหนึ่งในแม่ทัพเซนยุคบุกเบิก คือ ท่านโพธิธรรม ซึ่งว่ากันว่าท่านนั่งจ้องผนังถ้ำอยู่ถึง ๙ ปี

การจ้องกำแพงอย่างพอดีระยะ จะช่วยให้เกิดโฟกัสสายตาที่แน่นอน ไม่กลอกไปกลอกมาตามใจที่ฟุ้งซ่านเลื่อนลอย กำแพงจึงเหมือนจอว่างที่ช่วยให้ย้อนเข้ามาดูการทำงานของจิตได้ง่ายขึ้น กล่าวคือ เห็นว่าคิดว่าคิดอะไร เกิดภาพมิติเลือนรางหรือชัดเจนอย่างไร เกิดความสุขความติดใจ หรืออึดอัดอยากไปให้พ้น 'จอว่าง' ขึ้นมาเมื่อไหร่

ผลที่ต้องการ คือ ยกระดับจิตให้อยู่เหนือความคิด สามารถเท่าทันการก่อตัวของความคิด รู้เห็นกระบวนการมาและการไปของกลุ่มความคิดได้ ทางจิตวิทยายุคใหม่เรียกความสามารถในการรู้ความคิดตนเองว่า Metacognition ซึ่งมีนิยาม คือ thinking about thinking หรือ 'คิดถึงความคิด'

มีนักคอมพิวเตอร์บางคนเปรียบเทียบไว้ว่าถ้าทำเช่นนั้นได้ต่อเนื่องพอ ก็เหมือนแฮกระบบของสมองเข้าไปเห็นความลับก่อนเกิดความคิด ผู้ที่เข้าถึงจึงอาจ 'อัพเกรดระบบ' คือ แก้ไขหรือปรับเปลี่ยนกระบวนการคิดอ่านเสียใหม่ หรือไม่ก็ใช้ประโยชน์ขั้นก้าวหน้า ในระดับสูงขึ้นทางจิตวิญญาณ เห็นความคิดไม่ใช่ตัวตน

สตีฟ จ็อบส์ ให้สัมภาษณ์ วอลเตอร์ ไอแซคสัน (Walter Isaacson) เพื่อเขียนหนังสือชีวประวัติเกี่ยวกับตนเองอย่างเป็นทางการ มีใจความสำคัญคือ ความเป็นนักคิดค้น หรือนักสร้างวิสัยทัศน์ในตัวเขา ได้รับอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงจากวินัยและการฝึกฝนแบบเซน

ไม่มีใครรู้ดีเท่า สตีฟ จ็อบส์ ว่าเขาได้อะไรดีๆ มาจากเซนบ้าง แต่มีคนอยากรู้อะไรดีๆ เกี่ยวกับเซนมากขึ้นเยอะ ในเมื่อหนึ่งในศิษย์เซนตลอดชีพอย่าง สตีฟ จ็อบส์ ทรงพลังขนาดพลิกโฉมหน้าวงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งโลก แถมยังทำให้บริษัทแอปเปิ้ลที่เขาสร้างมากับมือ มีมูลค่าตลาดเป็นอันดับหนึ่งของโลกได้ก่อนตาย

ในการทำงานระดับโลกนั้น ปัจจุบันอยู่ในยุค 'คิดก่อน ได้ก่อน' ปัญหาคือ คิดได้นั้นไม่ยากแต่คิดในสิ่งที่เป็นของแปลกใหม่ โดนใจใช่เลย เข้าขั้นเรียกว่า 'นวัตกรรม' ได้เต็มปากเต็มคำนั้น ยากเย็น และไม่ทราบจะเอาหลักสูตรไหนมาเป็นหลักตั้ง

สตีฟ จ็อบส์ แค่พูดคำเดียวว่า หนังสือแนวคิดเชิงธุรกิจเล่มใด 'ต้องอ่านให้ได้' หนังสือเล่มนั้นก็แทบจะกลายเป็นหนังสือขายดีระดับข้ามชาติขึ้นมาทันทีแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจหากนิกายเซนซึ่ง สตีฟ จ็อบส์ ยกย่องให้เป็นหลักใจของเขาอยู่เสมอ จะกลายเป็นที่กล่าวขวัญถึงในหมู่คนยุคไอที โดยเฉพาะคนวัยทำงานที่ยึดถือ สตีฟ จ็อบส์ เป็นแบบอย่างหรือกรณีศึกษา

หนังสือ หลักสูตร หรือสัมมนาอบมพัฒนาทักษะการทำงานใด โยงเอาเซนมาเป็นแม่บท จึงไม่ถูกมองว่าเชย คร่ำครึ หรือเป็นปัญญาโบราณล้าสมัยอีกต่อไป เนื่องจากสินค้าไอทีที่มีดีไซน์ล้ำยุคพลิกโลกเช่นไอโฟน ก็ดูเหมือนจะมีรากมาจากปรัชญาแบบเซนนั่นเอง

แล้วจริงๆ มีอะไรน่ารู้เกี่ยวกับเซนบ้าง?

เซนคืออะไร?

เซน (Zen) คืออะไร เป็นพุทธนิกายมหายาน นับถือกันอย่างแพร่หลายในแถบเอเชียตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี แม้กระทั่งในไทยก็มีผู้สนใจอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย ชัดหน่อยก็เช่นหมู่บ้านพลัมซึ่งมีการปฏิบัติแบบเซนอยู่

คำว่า 'เซน' เป็นศัพท์ญี่ปุ่นที่ตรงกับคำว่า 'ฉาน' ในภาษาจีน (หากเป็นจีนแต้จิ๋วจะออกเสียงว่า 'เซี้ยง') ฉานจะมาจากคำว่า 'ธฺยาน' ในภาษาสันสกฤตอีกทอดหนึ่ง เมื่อเทียบถึงที่สุดแบบที่ชาวพุทธเรารู้จักกัน ธฺยานก็คือ 'ฌาน' ในภาษาบาลีนั่นเอง

ฌานคือจิตที่เข้าถึงความเป็น 'อัปปนาสมาธิ' คือ มีความแนบแน่นอยู่ในอารมณ์เดียวจิตใหญ่เป็นมหัคคตะ ไร้ความคิดอันเป็นเหตุให้ซัดส่ายจากความเป็นหนึ่ง จึงสว่างจ้าอยู่อย่างมั่นคงในช่วงเวลานานเต็มอิ่ม

แต่เซนไม่ใช่ฌานธรรมดา สาเหตุจริงๆ ที่ได้ชื่อว่า 'เซน' ก็เพราะวิถีแห่งเซนจะเน้นเรื่องการเข้าถึงสมาธิอันตื่นรู้ โดยไม่เกี่ยงว่าจะใช้วิธีดั้งเดิม คือขบปริศนาธรรมโกอาน หรือทำสมาธิจ้องกำแพงว่างที่เรียก 'ซาเซน' (Zazen) หรือฝึกลากพู่กันวาดวงกลมในชั่วหนึ่งลมหายใจที่เรียก 'เอนโซ่' (Ensō) โดยแบบวิธีเกี่ยวกับสมาธิต่างๆ เริ่มแพร่หลายในช่วงที่เซนถูกนำมาเผยแพร่ในญี่ปุ่น

ผู้ที่แจ่มแจ้งในเซน จะถึงซึ่งขณะหนึ่งแห่งการบรรลุ เป็นอิสระจากความเข้าใจผิด เรียกว่า 'ซาโตริ' ซึ่งเทียบกับทางเถรวาทก็คือ 'บรรลุมรรคผล' โดยขั้นสุดยอดของซาโตริจะทำลายอุปาทานที่กักขังบุคคลไว้ในวังวนทุกข์เสียได้ ไม่วนกลับมาอีก บริสุทธิ์แล้วบริสุทธิ์เลย เป็นความถาวรของ 'การไร้กระจกให้ฝุ่นจับ'

เซนได้รับอิทธิพลมาจากลิทธิขงจื๊อและลัทธิเต๋า ฉะนั้น ภาษา สำนวน ตลอดจนวิธีพูดถึงภาวะระดับสูง จึงละม้าย คล้าย หรือกระทั่งเหมือนกัน หลายคนสับสนระหว่างคำว่า 'เต๋า' กับ 'เซน' และ นึกว่าเป็นอันเดียวกัน ความจริงแล้วผู้ก่อตั้งเต๋า คือ เล่าจื๊อ เคยอธิบายไว้ว่า "ไม่ทราบจะเรียก 'สิ่งนั้น' ว่าอะไร จึงขอเรียกว่า 'เต๋า' ไปพลางๆ" หมายความว่า ท่านไม่ได้ให้ความสำคัญกับซื่อมากนัก แต่สิ่งที่ท่านเรียก ก็คือนิพพานสำหรับเถรวาทเรานั่นเอง เพราะเล่าจื๊อเคยบรรยายไว้ว่าเต๋าคือสิ่งที่พ้นภาวะคู่ เช่นไม่มีสั้นไม่มียาว ไร้การกระทำ ไม่เป็นที่ตั้งให้สิ่งที่เราเคยๆ รู้จัก ไม่แม้แต่จะจินตนาการถึงสิ่งนั้นกันได้ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็เคยตรัสถึงนิพพานโดยความเป็นเช่นนั้นเช่นกัน

อันที่จริงต้นตำหรับเซน น่าจะมีความใกล้ชิดหรือมีความเป็นพุทธดั้งเดิมมากกว่าเต๋า เพราะถือกำเนิดจากอินเดียอันเป็นประเทศแม่ของพุทธศาสนา ก่อนจะมีผู้นำเข้ามาในจีน แล้วกลายเป็น 'ศิลปะทางวิญญาณ' ในญี่ปุ่น ดังที่คนส่วนใหญ่ในโลกรู้จักกัน

ถ้านึกไม่ออกว่านิกายหนึ่งๆ ของพุทธเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ขอให้นึกถึงชาวพุทธใกล้ๆ ตัวเราสักคน ที่ไม่ชอบพูดคุยกับนักวิชาการ แหนงหน่ายการถกเถียงว่าบัญญัติแบบใดผิดตลอดจนไม่ชอบเรื่องแวดล้อมอื่นๆ ทางศาสนา เช่น นรก สวรรค์ กฎแห่งกรรมวิบาก แต่อยากพูดถึงประสบการณ์ทางจิต ที่ตรง ที่เย็น ที่ตั้งมั่นรู้ออกมาจากความว่าง เป็นรสที่เหนือรส เป็นอภิสิทธิ์ของคนใจถึงที่พร้อมทิ้งโลก หากคนๆ นั้นแก่กล้าพอจะเผยแพร่แนวทางเข้าถึงประสบการณ์ทางจิตแบบพุทธะตรงๆ ได้ แล้วจะเรียกแนวทางของตนเองว่า 'เซน' หรืออะไรอื่น ก็ต้องมีคนยอมรับเป็นจำนวนมาก

ความโดดเด่นของเซนในโลกยุคไอที

ความโดดเด่นของเซน อยู่ตรงที่ความสามารถในการสื่อสาร 'พุทธะ' ให้เป็นที่รู้จักในโลกกว้างได้  โดยไม่จำเป็นต้องติดภาพพุทธที่ชัดเจนนัก ดังเช่นที่ชาวคริสเตียนนอกเขตเอเชียรวมตัวกันเรียกกลุ่มของตนเป็นนิกายชื่อ "คริสเตียนเซน" เป็นต้น

ปัจจุบันเซนในความรับรับรู้ของคนทั่วไป มักสื่อถึง 'ความเป็นพุทธที่นำมาใช้ได้จริงกับฆราวาส' นับเริ่มตั้งแต่มีพิธีชงชาแบบเซน การจัดดอกไม้แบบเซน การจัดสวนแบบเซน วิถีซามูไรแบบเซน การยิงธนูแบบเซน การเล่นหมากล้อมแบบเซน ซึ่งเน้นเรื่องพื้นฐานขณะจิตอันเป็นสมาธิแบบเซนก่อนเกิดการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะเมื่อมีสมาธิแบบเซน ย่อมรู้จักความว่าง และนำไปจัดตำแหน่ง ส่งพลังเคลื่อนไหว ตลอดจนสร้างศิลปะที่เห็นแล้วรู้สึกถึง 'จังหวะแห่งช่องว่างอันเหมาะเจาะงดงาม' ด้วยตาเปล่า สร้างความรู้สึกสงบสุขได้ทันที

พูดง่ายๆ คนเข้าถึงความว่างอย่างเซน จะนึกอยากหาวิธีสะท้อนความรู้สึกว่างในตนให้ออกมาเป็นรูปธรรม ทางหนึ่งเพื่อจะฝึกสมาธิอยู่กับความว่าง และอีกทางคือเป็นการเผื่อแผ่ให้คนอื่นจะได้เกิดความรู้สึกแบบเดียวกัน หรือโน้มเอียงไปในทางเดียวกัน

พอถึงยุคอินเตอร์เน็ตเรา เซนได้พัฒนาเป็น 'ส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณแบบมืออาชีพ' ไปแล้ว กล่าวคือ ดูเหมือนใครๆ ในสาขาไหน ก็เอาเซนไปประยุกต์กับอาชีพของตนได้ หากจะสืบสำรวจแบบง่ายๆ เร็วๆ หน่อย ก็ให้ดูจากแหล่งหนังสือใหญ่อย่าง amazon.com   คุณจะพบทั้ง เซนในศิลปะการพยาบาล (Zen in the Art of Nursing) เซนแห่งการตลาดโซเชียลมีเดีย (The Zen of Social Media Marketing) เซนแห่งการเดี่ยวไมโครโฟน (Zen and the Art of Stand-Up Comedy) จิตวิทยาเซนแบบกระชับสั้น (ZEN PSYCHOLOGY In A Nutshell) หมากรุกเซน (Aen Chess) การตกแต่งภายในอย่างเซน (Zen Interiors) และอะไรต่ออะไรอีกไม่รู้เท่าไหร่

และเพียงใช้กูเกิลหาคำว่า 'Zen of' ผลลัพธ์เกี่ยวกับมุมมองเฉพาะทางอย่างเซน จะมีเป็นอเนกอนันต์นับไม่ถูก ทั้งนีเพราะชาวโลกจำนวนมากหันมาสนใจเซนในแบบที่เข้ากันกับสาขาอาชีพของตน ไม่ใช่เซนในฐานะของนิกายทางศาสนา มืออาชีพในศาสตร์ต่างๆ ที่หันมาเขียนหนังสือแนงเซน บางคนออกตัวเลยว่าไม่ใช่ชาวพุทธ แล้วก็ไม่ได้เข้าใจหลักเซนลึกซึ้ง แต่บังเอิญไปสะดุดเข้ากับถ้อยคำชวนสงบและก่อปฏิภาณอย่างเซน ตลอดจนเห็นความเข้ากันได้กับจิตวิญญาณแบบมืออาชีพเช่นตน

โดยแก่นของเซนประยุกต์ มืออาชีพทางศาสตร์และศิลป์แบบโลกๆ จะ 'ขอยืม' หลักเซนมาเป็นตัวตั้งเพื่อให้เกิดความคิดรวบยอดเท่านั้นไม่ได้เน้นจาระไนเซนโดยพิสดารแต่ประการใดหรืออาจกล่าวว่า 'เซน' ได้กลายเป็นศัพท์สาธารณะนำไปประยุกต์ได้ตามมุมมองที่แต่ละคนประสบสัมผัสหรือประทับใจ หาใช่เซนตามแบบฉบับดั้งเดิมไม่

เซนในมุมมองของดังตฤณ

โดยมุมมองส่วนตัว ผมเริ่มเข้าใจและเชื่อว่าเซนไม่ใช่พุทธแตกแถว ครั้งแรกก็เมื่อเห็นเอนโซ่ซึ่งเป็นภาพวาดวงกลมสื่อพลังแห่งการรู้แจ้ง อาณาจักรความว่างอันยิ่งใหญ่ และภาพนั้นมีคำบรรยายประกอบอยู่สามบรรทัด คือ
ภายนอก - ว่างเปล่า
 ภายใน - ว่างเปล่า
ทั้งภายในและภายนอก - ว่างเปล่า




ศิลปะเอนโซ่อันประกอบถ้อยคำอันทรงพลังแห่งเซนนั้น ทำให้ผมสัมผัสรู้สึกจิตของเหล่าอริยบุคคลผู้สามารถรู้จักอารมณ์แห่งสมาธิจิตอันว่าง (สุญญตะ) ไม่มีนิมิต (อนิมิตตะ) ไม่มีที่ตั้ง (อัปปณิหิตะ) ซึ่งเป็น 'ว่างอย่างรู้' อันลึกซึ้ง เข้าถึงรสอันเหนือรส (หมายเหตุ - ความรู้สึกว่าว่าง ไม่มีนิมิต ไม่มีที่ตั้ง นั้นไม่ใช่นิพพาน แต่เป็นความรู้สึกเป็นภาวะปรุงแต่งทางจิต ดังที่สมัยพุทธกาลเคยมีผู้สัมภาษณ์ท่านธรรมทินนาภิกษุณี ที่สามารถเข้านิโรธสมาบัติแล้วรู้สึกอย่างไร ท่านตอบว่า ความรู้สึกแรกที่เกิดขึ้น คือ ว่าง ไม่มีนิมิต ไม่มีที่ตั้ง)

ความรู้สึกถึง 'ว่างนอก ว่างใน ว่างทั้งในและนอก' นั้น แม้ในหลักปฏิบัติสติปัฏฐานที่พระพุทธเจ้าประทานแนวทางไว้ ก็มีอยู่ คือ ท่านให้เห็นกายใจทั้งภายใน (ของเรา) ทั้งภายนอก (ของคนอื่น) ทั้งภายในและภายนอก (คือเห็นเราเห็นเขาควบคู่พร้อมกันไป) ซึ่งแต่ละการเห็น ย่อมกะเทาะเปลือกตัวตน เกิดความรู้สึกว่างจากตัวตนไปทีละเปลาะ กระทั่งกะเทาะออกได้หมดไม่มีเหลือ แปรความรู้สึกยึดติดเหนียวแน่นทั้งข้างในและข้างนอก เป็นความวาง ว่างสนิท ไม่มีธรรมอันเป็นภายในหรือภายนอกเกาะกุมหุ้มห่อจิตได้อีก

ด้วยแก่นของเซนที่สื่อตรงถึงแก่นเดิมของพุทธ ผมจึงเชื่อว่าถ้าพูดถึง 'พุทธะ' ในความหมายของเถรวาทเรา ก็คือพูดถึง 'เซน' ในความหมายของมหายานนั่นเอง

หลายปีที่ผ่านมา มีผู้ขอให้ผมเขียนหนังสือเกี่ยวกับการทำงานกันหลายคน ซึ่งผมเห็นประโยชน์ แต่ก็ไม่อยากเขียนเนื้อหาที่มีชื่อหนังสือประมาณ 'ทำงานแบบพุทธ' หรือ 'เข้าถึงพุทธะด้วยการทำงานแบบโลกๆ' เนื่องจากโดยความเห็นส่วนตัว ผมไม่คิดว่า 'พุทธะ' สมควรนำมาผูกโยงกับการทำงานแบบโลกๆ 

ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน คำว่า 'พุทธะ' ยังคงสืบทอดความเป็น 'ของสูง' มาโดยตลอด กล่าวคือ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จากการเจริญสติปัฏฐานตามแนวทางดั้งเดิมของพระพุทธเจ้า หากมีการนำคำนี้ไปใช้ในทางอื่น ผมคงอยากคัดค้านมากกว่าสนับสนุน

แต่คำว่า 'เซน' นั้น นับแต่อดีตถึงปัจจุบันได้ทำประโยชน์กว้างขวาง เผยแผ่พระสัทธรรมด้วยเส้นทางที่บางทีอาจถูกวิจารณ์ว่าเป็น 'ใต้ดิน' แต่ก็ประสบความสำเร็จจริง คือ ลากจูงคนไม่เข้าใจพุทธให้หันมาสนใจ ศึกษา ตลอดจนเข้าถึง 'เซนแบบพุทธจริงๆ' ได้ในภายหลัง

ฉะนั้น ถ้าจะ 'ขอยืม' ยี่ห้อเซนมาเป็นแกนกลางในการสื่อความเข้าใจว่า จะทำงานโลกๆ ด้วยจิตแบบไหน จึงเขยิบเข้าใกล้ความเป็นพุทธะกันได้ก็น่าจะเป็นเรื่องน่ายอมรับกว่ากัน

สำหรับมือใหม่ ผมพบว่าอาศัยเซนเป็นแกนเขียนเกี่ยวกับวิธีทำงานอย่างพุทธนั้น ช่วยขจัดความยุ่งยากเกี่ยวกับการจดจำศัพท์แสง ให้ความรู้สึกว่าพุทธอยู่ใกล้ตัว ทำได้จริง ไม่สูงส่งเกินเอื้อม

ส่วนผู้ที่ฝักใฝ่การเจริญสติมานาน ก็จะได้เห็นช่องทางเป็นไปได้จริงที่จะทำงานไปด้วย  เจริญสติไปด้วย ปลดเลื้องข้ออ้างที่ว่า 'ต้องทำงาน ไม่มีเวลาเจริญสติ' กันได้เสียที

เซนในการทำงานเหมาะกับใคร?

อย่างที่บอกครับว่า เซนแตกต่างจากพุทธแบบที่ไทยคุ้นเคย ผู้นิยมแนวเซน ควรเป็นผู้ที่ต้องการประสบการณ์ทางจิต โดยไม่ต้องคุยกัน เรื่องแวดล้อมอื่นๆ ลองนึกถึงฝรั่งที่ไม่มีคนใกล้ตัวพูดเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดเ้าหูเลย สนใจแต่เรื่องทำมาหากิน ซึ่งพอทำๆ ไปแล้วก็เครียด เป็นทุกข์เป็นร้อน อยากได้แนวทางทำงานที่ช่วยให้รับมือความกดดันในที่ทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งพอฟังเรื่องเกี่ยวกับเซนในที่ทำงานว่าช่วยได้ รับรองว่าเย็นใจเข้าเป้า เขาก็คงไม่สนใจว่าจะแตกแขนงมาจากพุทธที่ปลูกศรัทธากันด้วยหลักกรรมวิบาก แต่สนใจว่าเซนมีคำแนะนำอย่างไร ช่วยให้ 'เครื่องร้อนน้อยลง' ด้วยวิธีไหน

ภาษาของเซน เป็นภาษาของประสบการณ์ตรงทางจิต ฉะนั้น หากจิตแบบเซนคือความสงบเย็น ก็เป็นธรรมดาที่ถ้อยคำแห่งเซนคล้ายเป็นลำนำแห่งความสงบ จากนั้นจึงค่อยๆ พัฒนาให้เข้าถึงความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน หากคุณอ่านแล้วได้ความสงบ รู้สึกมีสติ ตื่นตัว ไม่จมจ่อมเซื่องซึม ตลอดจนอยากฝึกทำงานเพื่อรักษาสภาพความสงบอย่างตื่นรู้เอาไว้ อันนั้นก็แปลว่าวิถีแห่งเซนเหมาะกับคุณแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้เซนจะมีเอกลักษณ์ในเรื่องความสงบอย่างง่ายดาย ชวนให้ผู้ศึกษาเข้าใจว่านามธรรมอันลุ่มลึกอาจเข้าถึงได้ด้วยวิถีแห่งความเรียบง่าย ไม่ต้องทำอะไรมาก กระทั่งเกิดความคาดหวังว่า อ่านหนังสือเกี่ยวกับเซนจบ จะสงบต่อไปชั่วนิรันดร์ ถ้าคุณคิดเช่นนั้น ก็ขอให้เปลี่ยนความเข้าใจไว้แต่เนิ่นๆ 

ใจคนเราถูกปรุงแต่งไปเรื่อยตามสิ่งที่เข้ามากระทบ เหมือนอาบน้ำเย็น ย่อมรู้สึกว่าตัวเย็นลง และมีความสดชื่นกว่าตอนออกกำลังกายเหนื่อยๆ ร้อนๆ แต่ไม่ได้หมายความว่า คุณจะเย็นและสดชื่นเช่นนั้นตลอดไป

บนวิถีแห่งเซน คุณจะได้เรียนรู้ว่าก่อนจะถึงความเรียบง่ายได้จริง คนเราต้องผ่านความยุ่งยาก และถางทางลำบากให้หมดเสียก่อน

หนังสือเล่มนี้ ไม่ได้สอนให้ขบปริศนาธรรม ไม่ได้สอนให้ทำซาเซน ไม่ได้สอนให้วาดเอนโซ่ แต่สอนให้ใช้งานที่คุณทำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ในการเข้าถึงเซน หรืออย่างน้อยที่สุดก็อยู่บนวิถีแห่งเซน

เนื้อหาของหนังสือออกแบบมาให้คุณอ่านแล้วส่องย้อนเข้ามาในจิต เห็นพัฒนาการทางจิตที่ขยับใกล้เซนเข้าไปเรื่อยๆ โดยแต่ละบทจะบอกว่าจิตแบบเซนเป็นอย่างไร จากนั้นจึงบอกวิธีการที่ชัดเจนตรงไปตรงมา ว่าจะเข้าถึงแง่มุมนั้นๆ ของจิตแบบเซนได้อย่างไร

ระหว่างอ่านหนังสือ คุณจะไม่พบข้อแตกต่างระหว่างวิถีพุทธแบบเซน เนื่องจากผมคัดเลือกไว้เฉพาะที่ลงกันได้สนิทโดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิธีทำสมาธิ ซึ่งจะมีความพิเศษตรงคำอธิบายประกอบภาพ อ่านวิธีการพร้อมมองภาพแล้วนำไปทำตามได้ทันที เห็นผลที่เกิดขึ้นตามภาพทันที

แม้จะเน้นการเข้าถึงเซนเพียงใด หนังสือก็ไม่ลืมว่าคุณต้องการเก่งงานมากกว่าเก่งนิ่ง ฉะนั้นเนื้อหาทั้งหมดจึงพุ่งเข้าหาเป้าหมายสำคัญ คือ นิ่งว่างอย่างเซนเพื่อเป็นเซียนในงาน ควบคู่ไปกับการเห็นการทำงานของจิตเพื่อไร้ทุกข์อย่างเป็นไปเองซึ่งนั่นควรนับเป็นความน่าพอใจสูงสุดสำหรับคนเมืองแล้ว จริงไหม?

ดังตฤณ
เมษายน ๕๖

เมื่อใจนิ่งว่างเป็นฐาน
จะฟุ้งซ่านในงานเพียงใดก็ไม่กระเจิง
Howfarbooks.com

เซ็นแบบพุทธทาส
วัชระ เซน
www.mebmarket.com
"ถ้าเรารู้จักปัจจัยที่ทำให้สุข เราก็จะสุขได้แม้กายเราไหวใจก็สงบ"
เสียงอ่านหนังสือ  "เซนในการทำงานอย่างเซียน"

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น