วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

การอ่าน : มหัศจรรย์แห่งสุขภาพ - สุขชีวิต

 การอ่าน มหัศจรรย์แห่งสุขภาพ สุขชีวิต

พบโลกใบใหม่ พบความสุขทุกครั้งที่เปิดหนังสือ

คุยเปิดเล่ม
ในโลกยุคใหม่ที่ห้วงเวลาถูกโอบล้อมด้วยสื่อและสิ่งเร้ามากมาย สื่ออ่านเริ่มถูกเบียดเบียนออกจากวงโคจรของสื่อใหม่มากขึ้น แต่เมื่อใดที่มีการตามหาสื่อที่ปลุกความหมายของความเป็นมนุษย์ได้อย่างค่อนข้างสมบูรณ์ สื่ออ่านมักกลับมามีที่ยืนอย่างงามสง่าเสมอ

อ่านสร้างสุขฉบับ การอ่านมหัศจรรย์แห่งสุขภาพ-สุขชีวิต ได้รวบรวม เรียบเรียง คุณค่าที่ลึกล้ำของหนังสือและการอ่าน เพื่อเน้นย้ำและปักหมุดที่ยืนอย่างเข้มแข็ง ขณะเดียวกันเพื่อตอบโจทย์และนำเสนอสังคมและผู้บริหารประเทศ ให้เห็นถึงความมหัศจรรย์ของรูปแบบสื่อที่เรียบง่าย ต้นทุนการลงทุนที่ไม่สูง แต่เปเครื่องมือที่ทรงพลังอย่างมหาศาลแก่คนทุกวัย และคืนทุนเมื่อลงทุนด้านนี้ในเด็กปฐมวัยถึง ๗ เท่า ในการสร้างเสริมสุขภาพ คุณภาพชีวิต ทุักษะชีวิต ทั้งในระดับปัจเจก และคุณภาพของสังคม

ขอขอบคุณ อาจารย์พิรุณ อณวัชศิริวงศ์ และ รศ.ดร. ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์ ที่ร่วมกันฉายภาพความแจ่มแจ้งในครั้งนี้

สุดใจ พรหมเกิด
ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน
สารบัญ
"เปิดหน้า" หนังสือสร้างสุขภาพ

ทำไมต้องอ่าน? เหตุผลเข้มทางวิทยาศาสตร์ของหนังสือต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต

มหัศจรรย์ของหนังสือ 'เล่มโปรด' สู่การเปลี่ยนแปลงสุขภาพเชิงลึก

ในโลกยุคดิจิตอล แต่คนรุ่นใหม่ถูกใจหนังสือเล่มมากกว่า!

"อ่าน" ชะลอวัยชรา ห่างไกลอัลไซเมอร์ ลดความเครียด เพิ่มความสุข


"เปิดหน้า" หนังสือสร้างสุขภาพ

เมื่อเอ่ยถึงคุณประโยชน์ของหนังสือ  มักจะมีเรื่องของพัฒนาการในด้านการคิดเชิงเหตุผล การพัฒนาคำศัพท์ การทำให้ผลการเรียนดีขึ้น การสร้างความผูกพันระหว่างพ่อแม่-ลูก

และยังแถมด้วยสถิติที่บางคนยังไม่รู้ อาทิ ทุกๆ ๑ หน่วยที่ลงทุนในโครงการส่งเสริมการอ่านของเด็กปฐมวัย จะให้ผลตอบแทนคืนสังคม ๗.๑๖ เท่า หรืออ่านหนังสือ ๑๕ นาทีต่อวัน ช่วยให้เด็กรู้จักคำมากกว่า ๑ ล้านคำต่อปี

การวางรากฐานด้วยการส่งเสริมการอ่านตั้งแต่ปฐมวัยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ไม่ว่าจะมองด้วยองค์ความรู้ในเรื่องของจิตวิทยาพัฒนาการ หรือพัฒนาการของสมองที่เรียกว่า "หน้าต่างแห่งโอกาส" (Window of Opportunity) หรือล่าสุด คือทักษะการคิดเพื่อชีวิตที่สำเร็จ หรือ EF (Executive Function) ซึ่งเป็นกระบวนการทางความคิดในสมองส่วนหน้า ที่เกี่ยวข้องกับการคิด ความรู้สึก และการกระทำที่ส่งผลต่อการสร้างเสริมคุณลักษณะที่โลกแห่งศวรรษที่ ๒๑ ต้องการ ซึ่งว่ากันว่ามีความสำคัญกว่า IQ และ EQ กันเลยทีเดียว และทีสำคัญปลูกฝังได้ตั้งแต่ปฐมวัย

อย่างไรก็ตาม ในทุกช่วงวัยล้วนได้รับคุณประโยชน์ของการอ่าน

หากถามว่าชีวิตต้องการอะไร คำตอบง่ายๆ ก็คือต้องการความสุข หรือมีสุขชีวิต

ชีวิตที่มีสุข ก็คือชีวิตที่มีสุขภาพที่แข็งแรง สมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพกาย-ใจ-สังคม-อารมณ์ และสติปัญญา

วิถีทางที่เปิดให้เราเห็น ได้มาจากองค์ความรู้จากงานวิจัยจำนวนมาก ในนานาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีความก้าวหน้าทางการวิจัย และวิทยาการทางชีวประสาทวิทยา

พบว่า การอ่านหนังสือนี่แหล่ะ คือที่มาของการมีสุขภาพในทุกมิติ ลองดูจากตัวอย่างงานวิจัยที่ว่าด้วยสุขภาพกาย ดังต่อไปนี้

การวิจัยของศูนย์วิจัยดัฟเฟอริน แคนาดา ในปี ๒๐๑๔ ในประเด็นเรื่องการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรมกับการรับรู้ภาวะทางสุขภาพ พบว่า ผู้ที่ชอบอ่านหนังสือมีแนวโน้มที่จะระบุว่าตนเองเป็นผู้ที่มีสุขภาพดี มากกว่าผู้ที่ไม่อ่านถึงร้อยละ ๓๓ และผู้ที่มีทักษะการอ่านต่ำ มีแนวโน้มมีปัญหาทางด้านสุขภาพร่างกายมากกว่าผู้ที่มีทักษะทางการอ่านมากกว่า ช่องว่างยิ่งกว้างขึ้นตามอายุ การวิจัยนี้สรุปว่า "การอ่าน เป็นตัวแปรที่มีสหสัมพันธ์อย่างสูง ต่อการรับรู้สุขภาพของบุคคล"

การวิจัยของมหาวิทยาลัยซัสเซกส์ ประเทศอังกฤษ ในปี ๒๐๐๙ ได้เปรียบเทียบผลของกิจกรรมต่างๆ ต่อการลดระดับความเครียด ซึ่งประกอบด้วย การฟังดนตรี การนั่งจิบน้ำชากาแฟ การเดินเล่น และการอ่าน พบว่า วิธีที่ลดความเครียดได้ดีที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ก็คือการอ่าน

การอ่านมีประโยชน์ต่อการนอนหลับ การอ่านช่วยให้นอนหลับได้ดี หากแต่ร้อยละ ๙๕ ของชาวอเมริกัน ใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ก่อนเข้านอน แสงจากหน้าจอจะยับยั้งการผลิตเมลาโทนินในสมองของเราซึ่งช่วยในการนอนหลับ องค์กรด้านบริการข้อมูลสุขภาพของสหรัฐอเมริกาจึงเตือน ให้เลี่ยงใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก่อนนอน และแนะนำให้อ่านหนังสือเล่ม เป็นหนึ่งในกิจวัตรก่อนเข้านอน

ในด้านสุขภาพจิต มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นความมหัศจรรย์ที่ได้จากการอ่าน ดังเช่น

ความมั่นใจในตนเอง งานวิจัยในปี ๒๐๑๑ ของมหาวิทยาลัยเซนทรัลมิซซูรี แสดงให้เห็นว่าการอ่านทำให้เกิดวงจรความภูมิใจในคุณค่าตัวเองด้านบวก ยิ่งอ่านมากขึ้น ความมั่นใจในตัวเองก็ยิ่งมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ในปี ๒๐๑๒ งานวิจัยของมหาวิทยาลัยโอไฮโอ สเตต ได้ติดตามผู้เข้าร่วมการทดสอบ ๘๒ ราย ที่ให้อ่านเรื่องสั้นเกี่ยวกับคนที่ฝ่าฟันเอาชนะความยากลำบาก พบพฤติกรรมมีส่วนร่วมทางสังคมของกลุ่มที่อ่าน มีมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้อ่าน

ในสหราชอาณาจักร ก็ได้ย้ำกับสังคมว่า "ขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญได้ค้นพบว่าการอ่านมีคุณประโยชน์ ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายต่อสุขภาพทางร่างกายและทางจิตใจ"

เพราะการอ่านสามารถช่วยป้องกันสภาวะทางสุขภาพ อย่างเช่น ความเครียด โรคซึมเศร้า และสภาวะสมองเสื่อม งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า คนที่อ่านหนังสืออยู่เสมอมีความรู้สึกเครียดและภาวะซึมเศร้าน้อยกว่ากว่าผู้ที่ไม่อ่าน และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคสมองเสื่อมได้เป็นอย่างดี

ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ผุ็ที่อ่านหนังสืออยู่เป็นประจำจะพึงพอใจในชีวิตมากกว่า มีความสุขกว่า และมีแนวโน้มมากว่าที่จะรู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำในชีวิตนั้นมีคุณค่า ผลการวิจัยนี้ได้มาจากการสำรวจผู้ใหญ่ จำนวน ๑,๕๐๐ ราย พบว่าร้อยละ ๗๖ บอกว่า การอ่านทำให้ชีวิตของตนดีขึ้นและทำให้มีความสุข

ไม่เพียงเท่านี้ การอ่านมีคุณประโยชน์ต่อสงคมในวงกว้าง ที่นอกเหนือจากการช่วยสร้างคนที่มีคุณภาพให้เพิ่มขึ้น มีการวิจัยออกมาแล้วว่า การอ่านทำให้ผู้อ่านมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นดีขึ้น และช่วยเสริมแรงการมีส่วนร่วมทางสังคมมากขึ้น เพราะการอ่านช่วยขยายกรอบในการมองโลกของผู้อ่านให้กว้างขึ้น ลึกขึ้น และทำให้รู้สึกมั่นใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น

ในด้านสติปัญญา ด้วยหลักฐานที่โดดเด่นจากการศึกษาด้วนวิมยาศาสตร์สมองพบว่าการอ่านทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบในสมอง ได้แก่การหลั่งฮอร์โมนในสมอง แม้ว่าเราจะอ่านจบไปแล้วแต่สมองทำงานและการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางชีววิทยาและเคมีในสมองไปอีก ๕ วัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือวรรณกรรม ซึ่งจะช่วยเพิ่มการเชื่อมต่อในสมอง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบประสาทที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับหน่วยความจำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งก็คือการพัฒนาสติปัญญานั่นเอง

ลองนึกดูว่า การไปกระตุ้นเซลล์ประสาทในสมองให้ทำงาน ด้วยการซึมซับหนังสือดีๆ สักเล่มและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ชีวิตก็ย่อมพูนความสุขขึ้นอย่างแน่นอน

การอ่าน มหัศจรรย์แห่งสุขภาพ-สุขชีวิต ได้ขยายองค์ความรู้เหล่านี้ไว้ให้ได้เติมเต็ม เพื่อแผ้วถางการทำความเข้าใจในคูณประโยชน์ของการอ่านหนังสือ ที่มีต่อสุขภาพของเราอย่างคาดไม่ถึง (เพราะยังไม่ได้ศึกษากันอย่างจริงจัง) และเพื่อที่เราจะได้ร่วมกันในภาคส่วนต่างๆ ขับเคลื่อนการอ่านให้ก้าวรุดไปข้างหน้า เพื่อเป้าหมายสำคัญคือสังคมที่พลเมืองมีสุขภาพดี มีชีวิตที่มีความสุข และนั่นย่อมหมายถึงคุณภาพของสังคมไทยนั่นเอง....

ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์
พิรุณ อนวัชศิริวงศ์
ศูนวิจัยและพัฒนานวัฒกรรมการอ่าน





0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น